โดย ณัฐวุฒิ รุ่งวงษ์
ประธาน บริษัทหลักทรัพย์ที่ปรึกษาการลงทุน ต้นธารคอร์ปอเรชั่น จำกัด
ในช่วงกว่า20ปีที่ผ่านมานี้ ผมนำเสนอเรื่องใหม่ๆต่อตลาดหุ้นไทยอยู่ 3 เรื่องด้วยกันครับ
ประธาน บริษัทหลักทรัพย์ที่ปรึกษาการลงทุน ต้นธารคอร์ปอเรชั่น จำกัด
ในช่วงกว่า20ปีที่ผ่านมานี้ ผมนำเสนอเรื่องใหม่ๆต่อตลาดหุ้นไทยอยู่ 3 เรื่องด้วยกันครับ
เรื่องแรก-FundFlow การวิเคราะห์เงินทุนต่างชาติในตลาดหุ้นไทย
เรื่องที่สอง-TimeZone มิติด้านเวลาว่าตลาดหุ้นจะขึ้นหรือจะตกวันไหน เมื่อไหร่
เรื่องที่3-Creative Destruction Model หรือโมเดลทำลายเชิงสร้างสรรค์กับการพลิกวิกฤตเป็นโอกาสในการลงทุนในตลาดหุ้น
โมเดลทำลายเชิงสร้างสรรค์กับการพลิกวิกฤตเป็นโอกาสในการลงทุนในตลาดหุ้น(เป็นโมเดลที่ผมคิดสังเคราะห์ และนำเสนอต่อนักลงทุนมาในช่วงเวลา20ปีมานี้)
ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตการณ์สงคราม, ก่อการร้าย, วิกฤตการเมือง, จลาจล, ปฏิวัติ, รัฐประหาร, พิบัติภัย อย่าง น้ำท่วม, แผ่นดินไหว, สึนามิ, โรคระบาด แบบ ซาร์, วัวบ้า, ไข้หวัดนก,ผู้นำคนสำคัญถึงแก่อสัญกรรม ฯลฯ โดยมี MODEL ดังชาร์ตด้านบนนี้
โมเดลพลิกวิกฤตเป็นโอกาสในตลาดหุ้น คุณสามารถเปลี่ยนวิกฤตได้ เพียงแต่รู้เรื่องนี้ ถ้าคุณหรือเพื่อนของคุณหวาดผวาข่าวร้ายใดๆก็ตาม แชร์ไปให้เพื่อนคุณรู้ ้เพื่อรับมือกับทุกวิกฤตการณ์ในตลาดหุ้น(แม้แต่วิกฤตที่คุณกลัวจับขั้วหัวใจก็ตาม)
โดย " Creative Destruction Model " นี้ พอจะอธิบายได้ดังนี้
ช่วงที่ 1 เมื่อวิกฤตการณ์ก่อตัวหรือเกิดพิบัติภัยขึ้นจะส่งผลลบทางจิตวิทยาของมวลชนในตลาด พากันขายหนีตายออกมาด้วยความแตกตื่น ( Panic Sell ) ส่งผลให้ราคาหุ้นร่วงลงอย่างรุนแรง กระทั่งส่งผลให้ราคาหุ้นลงไปมากกว่ามูลค่าที่แท้จริงมาก ๆ ( Under Value )…
ในช่วงนี้ หากจะขายเพื่อลดความเสี่ยงก่อนแต่เนิ่นๆก็พึงจะทำ แต่ถ้าหากร่วงลงมาลึกๆและชันก็ไม่ควรขายทิ้งแล้วนะครับ หรือในทางตรงกันข้าม การสวนควันปืนเข้าซื้อเลยก็ยังไม่ควรทำเช่นกัน
ช่วงที่ 2 หลังจากมวลชนคนส่วนใหญ่ในตลาดหุ้นได้พากันเทขายออกมาจนหนำใจแล้ว นรกก็จะค่อย ๆ เย็นลง เข้าสู่ช่วงซึมกระทือ ทั้งปริมาณและมูลค่าซื้อขาย ราคาหุ้นไม่ลงต่อแบบไหลรูดลงแล้ว เพราะคนที่ขายก็พากันขายจนเป็นที่พอใจแล้ว ไม่มีแรงขายล็อตใหญ่ ๆ อีกแล้ว แต่ในฝั่งตรงข้ามคนที่จะซื้อก็ยังไม่กล้าซื้อหุ้น เนื่องจากว่าวิกฤตการณ์ที่ถาโถมใส่ยังไม่จบสิ้น หรือยังไม่เคลียร์
ช่วงนี้ราคาหุ้นจึงมักทรง ๆ มูลค่าซื้อขายซบเซา ส่วนมูลค่าที่แท้จริงของหุ้น ก็มักต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริงแบบมีส่วนลด ( DISCOUNT) มาก ๆ
ช่วงจังหวะที่ 2 นี่เองที่ผมแนะนำว่าเริ่มเก็บหุ้นได้แล้วครับ ฝุ่นหายตลบแล้ว ความเงียบมาเยือน ความซึมเซาทรง ๆ ปกคลุมเริ่มช้อนได้ ไม่มีใครแย่ง ไม่มีใครกล้าแหย็มไล่ราคาขึ้น
แต่ถ้ายังไม่กล้าช้อนซื้อในช่วงนี้ก็ WAIT & SEE คอยจังหวะในช่วงต่อไป...
ช่วงที่ 3 เมื่อวิกฤตการณ์สิ้นสุดลง หรือทำท่าว่าจะสิ้นสุดลง หรือกะเก็งกันว่าผลจะจบแบบไหน ? ( สมัยสงครามอ่าวเปอร์เซียทั้งหนแรก และหน 2 พออเมริกาเปิดฉากยิงใส่ฝ่ายซัดดาม ฮุสเซน เปรี้ยงแรก ตลาดหุ้นก็ขึ้นเลยครับและขึ้นยาวซะด้วย ) ราคาหุ้นก็จะทะยานขึ้น และผมได้บันทึกสถิติไว้ว่า ในช่วงที่ 3 นี้ราคาหุ้นจะขึ้นไปทำจุดสูงสุดใหม่ ( New High ) กว่ายอดไฮ หรือยอดสูงเดิม แบบที่เรียกว่า นวตกรรมใหม่เกิดขึ้นหลังจากทำลายของเดิมลงไปแล้วนั่นเอง
ช่วงจังหวะที่ 3 นี้เอง ที่ผมให้เคล็ดลับแนะนำแนวทางในการลงทุนไว้ว่า ให้เพิ่มพอร์ตการลงทุน หรือซื้อเพิ่มจนเต็มพอร์ต ( หรือถ้าในช่วงที่ 2 จังหวะซึมๆ ซึมกระทือ วอลุ่มบางเฉียบอย่างมีนัยสำคัญ ก็ควรเริ่มเก็บได้แล้ว แต่หากยังไม่กล้าเก็บไม่กล้าช้อนซื้อในช่วงปลายๆช่วงที่ 2 ก็ต้องมาเร่งเอาช่วงที่ 3 นี้หละครับ ) จากนั้นให้ถือครองกอดหุ้นไว้ แล้วนำไปรอขายในช่วงที่ราคาหุ้นขึ้นไปทำจุดสูงสุดใหม่ ( NEW HIGH )
" Creative Destruction " ถ้าจะหาคำแปลที่แปลแล้วตรงๆ ตัวก็คงจะลำบากคงราวๆ “ นวตกรรมการทำลายเชิงสร้างสรรค์ ” หรือ " การทำลายสิ่งเก่าลง เพื่อเกิดใหม่อย่างศิวิไลซ์กว่าเดิม " เป็นทฤษฎีของนักเศรษฐศาสตร์มาร์กซิสต์ Joseph Schumpeter โดยเขาได้เขียนไว้ในหนังสือ Capitalism, Socialism and Democracy ว่าปัจจัยสำคัญที่จะผลักดันให้เกิดความมั่งคั่งของสังคม ก็คือการที่สังคมและองค์กรจะมีนวัตกรรมหรือสิ่งใหม่ๆได้นั้นจะต้องเกิดจากการลบเลือนหรือการทำลายล้างสิ่งเก่าๆ ออกไปเสียก่อน เนื่องจากภายใต้บริบทและวิธีการเดิมๆ นั้นย่อมยากที่จะเกิดนวัตกรรมหรือสิ่งใหม่ๆได้
ทฤษฎีนี้ต่อยอดมาจากคำแถลงที่มีชื่อเสียงอุโฆษคือ The Communist Manifesto (Marx and Engels, 1848)
ลองย้อนไปดูสงครามโลก , สงครามอ่าวเปอร์เซีย , สงครามต้านการก่อการร้าย การจลาจล , ประท้วง , ปฏิวัติ , รัฐประหาร , สึนามิ , พิบัติภัย , การพังทลายทางเศรษฐกิจ , การถึงอสัญกรรมของผู้นำประเทศ ฯลฯ เหล่านี้คือวิกฤตการณ์ที่ผ่านมาเยือนตลาดหุ้นถี่ยิ่งกว่าดาวหางฮัลเล่ย์ แต่เชื่อหรือไม่ว่า ทุกครั้งเมื่อเจอกระแทกแรงๆจากวิกฤตการณ์เหล่านี้ ตลาดหุ้นหลังจากนั้นจะปรับสมดุล แล้วก้าวเข้าสู่จุดสูงสุดใหม่เสมอ (ย้ำว่าถึงจะร่วงหนักเมื่อเจอวิกฤต แต่ภายหลังผ่านพ้นวิกฤตได้ ราคาหุ้นจะขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่ครับ)
หมายเหตุ:คัดมาจากตอนหนึ่งของหนังสือ"จิตวิทยาตลาดหุ้น ฉีกกฎลงทุนโลกตะลึง" ซึ่งผมกำลังจัดทำต้นฉบับเพื่อพิมพ์เป็นเล่มอยู่ครับ
....