วันพฤหัสบดีที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2565

ความเป็นอนิจจังของตลาดหุ้น และ 4 คำอันตรายที่สุดในการลงทุน ยิ่งกว่าคำว่า"รู้งี้"

ความเป็นอนิจจังของตลาดหุ้น-อยู่ไปอยู่มา ผมก็อยู่กับตลาดหุ้นมาเกือบจะ30ปี ทั้งที่เคยเกลียดมันมาก เพราะอยู่มาค่อนนาน เลยได้พบพานสารพัดวิกฤตที่โถมใส่ตลาด
เราเคยอกสั่นขวัญผวาว่าสงครามอ่าวจะกลายเป็นสงครามโลกครั้งที่3ล้างผลาญมวลมนุษยชาติ
เคยหวาดผวาว่าY2Kปี2000จะทำให้มีการกดปุ่มหัวรบนิวเคลียร์อัตโนมัติ ทำให้โลกย่อยยับเป็นผุยผง
เราเคยเจอฟองสบู่แตกปี40ที่ผมเองก็ต้องไปเปิดท้ายขายของ เจอวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ที่หลายคนทึกทักว่าคืออวสานของทุนนิยมสามานย์
เราเคยผ่านความpanicน้ำท่วมใหญ่ ต้องเอารถขึ้นไปจอดบนทางด่วนหนีน้ำ ร้านรวงต่างๆสินค้าเกลี้ยงเชลฟ์เพราะคนแห่ซื้อของไปตุน
เราผ่านการจลาจลการชุมนุมประท้วงที่เหมือนจะทำให้ประเทศไทยหายไปจากแผนที่โลกมานับหนไม่ถ้วน
เราเจอวิกฤตโรคซาร์ ไข้หวัดนก วัวบ้า เมอร์ส H5N1มายันCOVID-19 ตอนนี้เป็นยุคเงินเฟ้อเขย่าโลก และวิตกจริตสงครามนิวเคลียร์ล้างโลก
ทุกวิกฤตเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปในท่ามกลางกาละเวลา มีคนจำนวนมากมหาศาลสิ้นเนื้อประดาตัวล้มหายตายจากไปจากตลาดหุ้น มีอยู่หยิบมือที่ผ่านวิกฤตการณ์มาเล่าในภายหลังว่าพวกเขากลายเป็นเจ้าของพอร์ตพันล้านในวันนี้ได้อย่างไร
เมื่อมองย้อนกลับไป ก็ได้แต่ขำตัวเอง เหมือนหลายเรื่องที่เราเคยเจอกันมาว่า ทำไมในวันนั้นเราจึงได้หวาดผวาจนเกินสัดส่วนของความเป็นจริงมากเกินไป แนวๆแบกโอ่งแดงหนีไฟไหม้บ้าน อะไรทำนองนั้นแหละครับ....นั่นก็เพราะเรื่องราวมันได้ผ่านพ้นไปเป็นอดีตไปแล้ว
และเราก็ได้แต่บอกกับตัวเองครั้งแล้วครั้งเล่าว่า "รู้งี้"นะเราจะทำอย่างนั้น ไม่ทำอย่างนี้ และเราก็คงกลายเป็นเจ้าของพอร์ตพันล้านในวันนี้แล้ว แทนที่จะหมดตัวกับมัน
หรือเป็นได้แต่เพียงผู้สังเกตการณ์
คนมักชอบพูดว่า วิกฤตการณ์ครั้งนี้ต่างไปจากครั้งก่อนๆ แต่จากที่ผมเจอมามากนั้น คำกล่าวนี้ไม่จริง ทุกวิกฤตการณ์นั้นมีpatternที่เหมือนกัน มีimpactต่อตลาดเหมือนกัน คลี่คลายขยายตัวไปในทำนองเดียวกัน และมีผลต่อผู้เล่นในตลาดเหมือนเดิม ราวกับเป็นวงจรวัฏจักร
ผมเคยสร้างโมเดลนี้ไว้ และเผยแพร่ในระยะ20ปีเศษมานี้ หลายคนนำไปประยุกต์ใช้ก็บอกว่าได้ผลดี แต่ก็ยังมีข้อกังขาว่า รอบนี้ไม่เหมือนเดิม ต่างไปจากวิกฤตเที่ยวก่อน (ดูลิ้งค์โมเดลสร้างสรรค์เชิงทำลายในตลาดหุ้นไทย หลากหลายกรณีศึกษา http://thailworld.blogspot.com/2016/02/creative-destruction-model.html )
ผมจึงว่าความเป็นอนิจจังในตลาดนั้นก็ไม่ต่างไปจากเดิม มีขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปเหมือนเดิม
อันเป็นปกติแห่งโลกสงสาร สังสารวัฏธรรมดา
....
อ้างอิง:ยิ่งกว่าหมีก็สล็อธนี่หละแก ใครชอบแนวๆหุ้นตกโลกแตกเศรษฐกิจล่มสลาย ไม่ต้องอ่านคำนายสายทฤษฎีสมคบคิดที่ผิดซ้ำซากกันต่อไป Bloomberg เขาจัดให้ อ่านกันตาแฉะไปโลด https://www.bloomberg.com/graphics/2023-investment-outlooks/?fbclid=IwAR1WSUaByPhzhOC2ivohCPSZJUqaSCkmAihKazGPdQK724aLw0EGenxFA_M&sref=Hez1YhZz

เรื่องเกี่ยวเนื่อง; 4 คำอันตรายที่สุดในการลงทุน กับ
10 เรื่องความลับจิตวิทยามวลชนในตลาดหุ้นที่คุณไม่รู้
1.นอกจากปัจจัยข้อมูลข่าวสาร พื้นฐานแล้ว ปัจจัยจิตวิทยามีอิทธิพลขับเคลื่อนตลาดหุ้นมากกว่า 80% อีก20%คือพื้นฐาน
2.ในปัจจัยทางจิตวิทยาฝูงชนที่ขับเคลื่อนตลาดนั้น ประกอบด้วยความกลัว กับความโลภ แต่ความกลัวมีอิทธิพลในการขับเคลื่อนตลาดมากกว่าความโลภ คนรักตัวกลัวตายมากกว่าอยากได้ใคร่มี
3.มวลชนในตลาดที่เป็นพวกRisk loverนั้นมีน้อยกว่าพวกรักตัวกลัวตาย คนจึงยินดีที่จะรีบขายหมูทันทีที่มีกำไร และยอมติดหุ้นจนแทบจะหมดตัว
4.กูรูสายหุ้นตกโลกแตกเศรษฐกิจพินาศ แนวๆพระบิดาโชเพนฮาวเออร์นั้น จะมีอิทธิฤทธิ์ต่อตลาดมาก เนื่องจากจิตวิทยามวลชนในตลาดหุ้นนั้น ความกลัวหรือการเป็นผู้มองโลกแง่ร้าย(pessimism)มีแรงขับเคลื่อนมากกว่ามวลชนที่มองโลกสวย(optimism)
5.กูรูสายโลกร้าย pessimism นั้นคิดว่าพวกเขาเกิดมาเพื่อจะเป็นนอสตราดามุสในตลาดหุ้น คือหากถูกขึ้นมาซักที พวกเขาก็อาจจะปังเปรี้ยงแบบตำนานThe big short แต่หากไม่ถูก หรือผิดไปเรื่อย ก็ไม่มีปัญหาอะไร เพราะมวลชนคนpessimism ส่วนใหญ่ก็ไม่ได้สนใจหรอกว่าผิดหรือถูก พวกเขาแค่อยากฟังในสิ่งที่พวกเขาเชื่อ ส่วนกูรูถ้าผิด ก็เพียงแต่ผลิตคำทำนายใหม่ แล้วก็แชร์วนไป
6.เป็นความจริงที่ว่าคนส่วนใหญ่ไม่เคยถูก หากคนส่วนใหญ่เชื่อว่ากำลังจะเกิดหายนะในตลาด มันก็จะไม่เกิดหรอก เพราะคนเฝ้าระวังตัวแจ แต่ที่เกิดหายนะพินาศนั้น ส่วนใหญ่คนก็ไม่ได้ระวังตัว แต่กำลังเพลินโลภมากอยู่ต่างหาก
7.เป็นความจริงที่เซอร์เทมเพิลตัน และวอร์เรน บัฟเฟตต์ เคยกล่าวอมตะวาจาไว้ว่า จงกลัวในเวลาที่คนทั้งตลาดโลภ และจงกล้าในเวลาที่คนทั้งตลาดกลัว แต่คนที่คิดและทำแบบนี้ได้มีอยู่เพียงซัก5%ในตลาดเท่านั้น
8.อ้างจากเซอร์เทมเพิลตัน และดร.มาร์ค โมเบียสที่กล่าวว่า 4 คำที่อันตรายที่สุดในการลงทุนคือ This time is different ”ครั้งนี้ แตกต่าง จาก ครั้งอื่นๆ” https://www.markmobius.com/.../this-time-its-different...
ทั้งที่ความจริงแล้ววิกฤตการณ์ หรือรูปแบบของตลาดมันมักจะเหมือนที่เคยเกิดมาซ้ำแล้วซ้ำเล่า เพราะจิตวิทยาฝูงชนในตลาดชี้นำพฤติกรรมซ้ำๆที่สามารถพยากรณ์ได้ แต่เพราะจิตวิทยาที่โลภหรือกลัวเกินเหตุ ทำให้นักลงทุนพยายามทำในสิ่งที่ต่างออกไป และส่วนใหญ่ก็มักจะล้มเหลว
9.คนมักพูดกันว่าเวลาเกิดเหตุวิกฤต มันจะกวาดเรียบให้ทุกคนหายนะกันหมด ดังนั้นจงรักตัวกลัวตายเก็บคองอเข่ายามวิกฤติ แต่ในความจริงทุกวิกฤตการณ์มีรูปแบบ แพตเทิร์นคล้ายคลึงกับที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน หากคุณเข้าใจข้อนี้ก็อาจสร้างโมเดลพลิกวิกฤติเป็นโอกาสรวยหุ้นได้ แทนที่จะหมดตัวไปในวิกฤติ (http://thailworld.blogspot.com/.../creative-destruction...)
10.น่าแปลกที่ว่า ปัจจัยทางจิตวิทยามวลชนมีผลต่อตลาดหุ้นอย่างยิ่งยวด แต่คนรู้เรื่องนี้น้อยที่สุด(หากเทียบกับเรื่องพื้นฐาน การดูกราฟ การจัดพอร์ต) รายละเอียดทั้งหมดที่ว่ามานั้น มีในเล่มนี้ ความลับที่4 จิตวิทยามวลชนในตลาดหุ้น
คุณได้ค้นพบมันหรือยัง?

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น