วันจันทร์ที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2553

"กรณ์"เล็งป้องเก็งกำไรค่าบาท เตรียมเลิกยกเว้นเก็บภาษีหัก ณ ที่จ่ายต่างชาติลงทุนตราสารหนี้

ที่มา มติชน


"กรณ์"รับใช้มาตรการภาษีป้องกันเก็งค่าบาท เล็งหารือธปท. ทบทวนยกเว้นการจัดเก็บภาษีหัก ณ ที่จ่ายต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในตลาดตราสารหนี้ เลขาสภาพัฒน์ฯจี้รบ.เร่งใช้นโยบายการเงิน-การคลังสกัดเงินไหลเข้าเก็งกำไรค่าบาท

นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม ภายหลังการเข้าร่วมประชุมประจำปีของธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา เกี่ยวกับการออกมาตรการภาษีป้องกันการเก็งกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน โดยเฉพาะเงินที่ไหลเข้ามาลงทุนในตลาดตราสารหนี้ของนักลงทุนต่างชาติ ว่า ได้หารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อให้ทบทวนการยกเว้นการจัดเก็บภาษีหัก ณ ที่จ่าย จากเงินได้จากดอกเบี้ยและกำไรจากการขายตราสารหนี้อัตรา 15% (Withholding Tax) ที่มีการยกเว้นให้นักลงทุนต่างชาติมานานแล้ว หากเห็นว่า มีความจำเป็นก็อาจยกเลิกการยกเว้น ซึ่งกำลังพิจารณาความเหมาะสมและต้องคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นด้วย
ทั้งนี้ เห็นว่าอาจถึงเวลาต้องทบทวนการยกเว้นภาษีดังกล่าว เพราะการลงทุนของนักลงทุนไทยทั้งนิติบุคคลและบุคคลธรรมดายังต้องมีภาระภาษีดังกล่าว อีกทั้งหากจะยกเลิกการยกเว้นภาษีหัก ณ ที่จ่าย ให้นักลงทุนต่างชาติจริงก็ไม่จำเป็นต้องออกกฎหมายใหม่มารองรับเหมือนประเทศบราซิล เพราะการเก็บภาษีกำไรจากการลงทุนในตราสารหนี้มีอยู่เดิม แต่ที่ผ่านมาเพียงยกเว้นไว้เท่านั้น ซึ่งใช้อำนาจของกระทรวงการคลังดำเนินการได้


"เข้าใจว่าเดิมเป็นข้อเสนอของ ธปท.ที่เสนอให้ยกเว้นภาษีหัก ณ ที่จ่าย จากดอกเบี้ยและกำไร จากการขายตราสารหนี้ให้นักลงทุนต่างชาติ เพราะต้องการจูงใจให้มีการพัฒนาตลาดทุนไทย จึงต้องหารือกับผู้ว่าการ ธปท.ก่อน แม้จะเป็นอำนาจของกระทรวงการคลังที่สามารถดำเนินการได้ก็ตาม" นายกรณ์กล่าว


อย่างไรก็ตาม หากจะนำมาตรการภาษีมาใช้ จะไม่ใช่ลักษณะเดียวกับการสกัดกั้นเงินลงทุนที่ไหลเข้ามาเหมือนประเทศบราซิลที่ออกกฎหมายเก็บเงินที่ไหลเข้ามาลงทุนในตราสารหนี้ ในอัตรา 4% จากเดิมที่จัดเก็บ 2% เพราะเป็นภาษีใหม่ที่ต้องออกกฎหมายมารองรับ แต่การนำมาใช้ในช่วงนี้ต้องระมัดระวังสำหรับเงินที่เข้ามาลงทุนก่อนหน้านี้ เพื่อไม่ให้ได้รับผลกระทบไปด้วย


รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า สำหรับมาตรการภาษีสนับสนุนการลงทุนของผู้ประกอบการนั้นจะเกี่ยวข้องกับการหักค่าเสื่อมของเครื่องมือเครื่องจักรในการนำเข้ามาลงทุน ที่จะจูงใจเพิ่มขึ้นด้วยและยังช่วยให้ผู้ประกอบการไทยรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันไว้ได้ในภาวะที่อัตราแลกเปลี่ยนของสกุลเงินต่างๆ มีความได้เปรียบเสียเปรียบกัน และยังจูงใจลงทุนยกระดับคุณภาพการผลิตให้เร็วกว่าเดิม จากเดิมที่อาจวางแผนลงทุนภายใน 2-3 ปี ก็หันมาลงทุนในปีนี้แทน


นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า แม้ว่าสถานการณ์ค่าเงินบาทจะแข็งค่ามากขึ้นจนทำให้มูลค่าการส่งออกในรูปเงินเหรียญสหรัฐขยายตัวลดลง แต่จากพื้นฐานเศรษฐกิจไทยที่ยังแข็งแกร่งจึงมั่นใจว่าเศรษฐกิจไทยยังสามารถขยายตัวอย่างต่อเนื่องและมีผลให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นตามไปด้วยเช่นกัน โดย สศช.ยังยืนยันการประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2553 ที่ 7-7.5% เช่นเดิม


"การแข็งค่าของเงินบาท มีทั้งคนที่เดือดร้อนและไม่เดือดร้อน และมีหลายความคิด ขึ้นอยู่กับว่าใครมีเสียงดัง หากเป็นผู้ที่เตรียมพร้อมและศึกษาแนวโน้มของเศรษฐกิจ จะรู้ว่าแนวโน้มของค่าเงินบาทนั้นเป็นอย่างไรและรู้จังหวะเวลาของการสต๊อคสินค้า หรือการลงทุนด้านเครื่องจักร ซึ่งทำให้รอดพ้นจากการแข็งค่าของเงินบาทได้ หากเป็นกลุ่มที่เสียรายได้เพราะว่าสินค้าไทยจะมีราคาแพงในสายตาลูกค้าต่างประเทศที่สามารถต่อรองได้ แต่ขณะเดียวกันผู้ส่งออกส่วนใหญ่ก็เป็นผู้สั่งซื้อวัตถุดิบจากต่างประเทศหากบริหารจัดการสต๊อคสินค้าได้ จะได้ต้นทุนวัตถุดิบที่ถูก และหากลดกำไรลงสามารถทำให้ธุรกิจอยู่รอดได้"นายอาคมกล่าว


นายอาคมกล่าวว่า รัฐบาลควรทบทวนนโยบายภาครัฐเพื่อสร้างความเข้มแข็งของผู้ส่งออกที่เป็นเอสเอ็มอี ให้มีศักยภาพสูงขึ้นทั้งในระยะสั้นและยาว โดยการส่งเสริมการผลิตวิจัยพัฒนาและการทำตลาด เป็นต้น และเร่งใช้นโยบายทางการเงินและการคลังเพื่อป้องกันการไหลเข้าของเงินทุนระยะสั้นและการเก็งกำไรจากค่าเงินบาทมาทำลายความยั่งยืนของผู้ประกอบการในประเทศ


"ปัจจุบัน ธปท.ได้ดูแลเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนอยู่แล้ว เพื่อไม่ให้ค่าเงินบาทเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกัน ก็มีส่วนราชการและอีกหลายหน่วยงานที่ให้ข้อมูลอย่างต่อเนื่องรวมถึงนักวิเคราะห์ที่เชี่ยวชาญด้านตลาดเงินออกมาให้ข้อมูลเช่นกัน ดังนั้น ผู้ที่เกี่ยวข้องก็ต้องตรวจสอบข้อมูลให้ชัดเจนเพื่อนำไปใช้ในการดำเนินธุรกิจ ขณะที่หน่วยงานให้ข้อมูลก็ต้องให้ข้อมูลที่ถูกต้อง ชัดเจนและทันสถานการณ์ด้วยเช่นกัน" เลขาฯสศช.กล่าว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น