วันพฤหัสบดีที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2559

บทที่ 12 -ไม่อยากตกเป็นเหยื่อ อย่าหลงเชื่อนักวิเคราะห์ (ไปซะหมด)


โดย ณัฐวุฒิ รุ่งวงษ์

ความต่อไปนี้ผมคัดมาจากตอนหนึ่งในหนังสือ"จิตวิทยาตลาดหุ้น:ฉีกกฎลงทุนโลกตะลึง"ที่กำลังจัดทำต้นฉบับ เตรียมเป็นหนังสือเล่มในเร็วๆนี้ เชิญอ่านครับ
..............

จากกรณีศึกษาของ โจเซฟ ลูกาเรลลิ นักศึกษาเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยคอร์เนล พบว่า คำแนะนำของนักวิเคราะห์หลักทรัพย์เอียงไปในทิศทางเดียวกันอย่างน่าใจหาย โดยในปี ค.ศ.2000 มีคำแนะนำจากนักวิเคราะห์หลักทรัพย์รวมทั้งสิ้น 28,000 ชิ้น ต่อหุ้นของบริษัทอเมริกันในตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ ผลการศึกษาพบว่ามากกว่า 90%ของคำแนะนำได้ให้นักลงทุน “ซื้อหุ้นเพิ่มให้มากที่สุด, ซื้อ, หรือถือไว้” ในขณะที่มีคำแนะนำให้ “ขาย” น้อยกว่า 1%ของคำแนะนำทั้งหมดในปีนั้น

อย่างไรก็ตาม ดังที่ได้รับทราบกันดีไปแล้วก็คือ ได้เกิดภาวะฟองสบู่หุ้นด็อทคอมแตก ในปี 2000นั่นเอง นอกจากหุ้นเทคโนโลยีสื่อสารในตลาด NASDAQ จะร่วงโลกาวินาศแล้วก็ยังลุกลามไปยังหุ้นหมวดอื่น ๆ ให้ราคาลงตาม และหลายบริษัทราคาหุ้นลดลงเกินกว่าครึ่งด้วยซ้ำ

บทความหนึ่งในหนังสือพิมพ์ NEW YORK TIME ฉบับวันที่ 31 ธันวาคม ปี2000 ในเรื่องคำแนะนำของนักวิเคราะห์อ้างอิงจากบริษัทวิจัยการลงทุน ZACKS INVESTMENT RESEARCH ระบุทำนองเดียวกันว่า จากคำแนะนำ 8,000 ชิ้นนี้ออกโดยนักวิเคราะห์ครอบคลุมบริษัทต่าง ๆ ในดัชนี S&P 500 นั้นมีเพียงแค่ 29 ชิ้นเท่านั้นที่เป็นคำแนะนำให้ขายหุ้น

ย้อนหลังไปที่บทความหนึ่งของหนังสือพิมพ์ FINANCIAL WORLD ฉบับวันที่ 1 พฤศจิกายน ปี 1980 ก็ระบุว่านักวิเคราะห์แทบจะไม่เคยออกคำแนะนำให้ขายหุ้นเลยโดยจำกัดการแนะนำส่วนใหญ่ของพวกเขาไว้ในการซื้อหุ้นเท่านั้น และเป็นการยืนยันผลการสำรวจที่ FINANCIALWORLDเคยทำไว้ในช่วงต้นทศวรรษที่ 1970 ที่พบว่ามีเพียงส่วนน้อยของคำแนะนำของนักวิเคราะห์ในวอลล์สตรีท คือเพียง 1 ใน 10 ของรายงานเท่านั้นที่แนะนำให้ “ขาย”

ที่แย่กว่านั้นคือในระหว่างตลาดหมีของปี 2000 หุ้นเทคโนโลยีสื่อสารอินเตอร์เน็ตร่วงลงหนัก บรรดานักวิเคราะห์ในวอลล์สตรีทก็ยังคงออกคำแนะนำให้ “ซื้อ”และควรซื้ออย่างยิ่ง!... ในเดือนตุลาคมปี 2000 นั้นบริษัทโบรกเกอร์ยักษ์ใหญ่รายหนึ่งถึงกับลงโฆษณาเต็มหน้ากระดาษหนังสือพิมพ์ WALL STREET JOURNALว่า “ตอนนี้คือ 1 ใน 10 ของช่วงเวลาที่ดีที่สุดในประวัติศาสตร์ที่จะถือหุ้น” แต่ดังที่เราทราบดี ราคาหุ้นยังร่วงต่อเนื่องอีกในปี 2001 และ 2002 ทำให้ในความเป็นจริงแล้วเป็น 1 ในช่วงเวลาที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์นับตั้งแต่เหตุการณ์ THE GREAT DEPRESSION เมื่อปี ค.ศ.1929 โดยหุ้นเทคโนโลยีสื่อสารอินเตอร์เน็ตร่วงลงไปถึง 90%หรือมากกว่านั้น
อาเธอร์ เลวิตต์ ประธานบอร์ดตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ ให้สัมภาษณ์กับ NEW YORK TIME ฉบับวันที่ 31 ธันวาคม ปี2000 ถึงสาเหตุที่เป็นดังนี้ว่า “การแข่งขันในธุรกิจวาณิชธนกิจมันรุนแรงมาก ดังนั้นคำแนะนำให้ขายหุ้นบริษัทที่เป็นลูกค้าจึงจะพบได้น้อยมาก”...สรุปว่าโบรกเกอร์มีผลประโยชน์ทับซ้อน (CONFLICT OF INTEREST) นั่นแหละครับ

ขณะที่ศาสตราจารย์ ดร.โรเบิร์ต เอช.แฟรงค์ (ROBERT H. FRANK) นักเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัย คอร์เนล เขียนถึงกรณีนี้ไว้ในหนังสือ THE ECONOMIC NATURALIST ของเขาว่า เหตุที่นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ไม่ค่อยแนะนำให้นักลงทุนขายหุ้นแต่ลำเอียงไปในทางสนับสนุนให้ซื้อหุ้นเพิ่มทั้ง ๆ ที่ควรแนะนำขายมากกว่านั้นก็เนื่องจากว่า

1.นักวิเคราะห์มักเป็นพวกมองโลกในแง่ดี (OPTIMISM) กับภาวการณ์ที่เติบโตอย่างต่อเนื่องของตลาดหุ้นในอนาคต ซึ่งนับว่าคำแนะนำของนักวิเคราะห์ยังคงแสดงความบิดเบือนอยู่

2.นักวิเคราะห์กลัวตกเป็นเหยื่อของความรู้เท่าไม่ถึงการณ์กับภาวะกระทิงเทียม(BULL TRAP) ของตลาดหุ้นที่เติบโตอย่างไร้เหตุผล เช่นเดียวกับที่เคยเกิดมาแล้วเมื่อปลายศตวรรษที่ 1990 ราคาหุ้นขึ้นจากปัจจัยที่ไม่เกี่ยวกับการเติบโตทางเศรษฐกิจแต่อย่างใด

3.หุ้นของบริษัทที่นักวิเคราะห์ทำการวิเคราะห์วิจัยนั้น บ่อยครั้งก็พบว่า หุ้นเหล่านั้นเป็นลูกค้าของบริษัทโบรกเกอร์ที่นักวิเคราะห์สังกัดอยู่ หรือไม่ก็มีแนวโน้มจะเป็นลูกค้าที่ต้องให้บริการกันต่อไปในอนาคต

ผมยกตัวอย่างให้ชัดเจนนะครับ เป็นต้นว่า บริษัทโบรกเกอร์ โดยฝ่ายวาณิชธนกิจเป็นที่ปรึกษาทางการเงินในการนำหุ้นของบริษัทหนึ่งมาขายหุ้น IPOเพื่อเข้าตลาดเป็นหุ้นน้องใหม่ หรือในอนาคต กิจการของบริษัทนั้นมีความจำเป็นต้องใช้บริการวาณิชธนกิจอีกมากจาก โบรกเกอร์ เช่น การขายหุ้นเพิ่มทุน, การออกหุ้นกู้, การควบรวมกิจการ, การซื้อหรือขายกิจการ ซึ่งจะทำให้บริษัทโบรกเกอร์ได้ค่าธรรมเนียมสารพัด ดังนั้นบริษัทโบรกเกอร์ต่าง ๆ จึงพยายามรักษาสัมพันธภาพอันดีไว้กับบริษัทจดทะเบียนต่าง ๆ

ก็แน่แหละว่ารวมไปถึง การวิเคราะห์วิจัยบริษัทต่าง ๆ เหล่านั้นด้วย เมื่อต้องการประเมินคุณค่า และคำแนะนำ เผยแพร่ต่อนักลงทุนคนเล่นหุ้นมันจึงเป็นที่มาของคำแนะนำที่ “ลำเอียง” นั้น ดังที่ อาเธอร์ เลวิตต์ ประธานบอร์ดตลาดหุ้นสหรัฐพูดว่า “การแข่งขันในธุรกิจวาณิชธนกิจมันรุนแรงมาก ดังนั้นคำแนะนำให้ขายหุ้นที่เป็นลูกค้าจึงพบได้น้อยมาก”

4.เมื่อบริษัทโบรกเกอร์ ที่เป็นนายจ้างของนักวิเคราะห์ต้องการเอาใจบริษัทต่าง ๆ ในตลาดหุ้นด้วยการแนะนำให้ “ซื้อ” ก็มีผลต่อการตัดสินใจของนักวิเคราะห์ ให้เลือกวิธีที่ปลอดภัยที่สุด คือประเมินว่านักวิเคราะห์ของบริษัทโบรกเกอร์คู่แข่งจะให้คำแนะนำไปทางใด? ก็จะออกบทวิเคราะห์ให้คำแนะนำไปในทิศทางเดียวกับนักวิเคราะห์รายอื่น ๆ เพราะรู้ดีว่า ความสนใจของบริษัทโบรกเกอร์ผู้เป็นนายจ้างของนักวิเคราะห์รายอื่น ๆ ก็เหมือนกับบริษัทโบรกเกอร์ของตัวเองต้องการให้คำแนะนำออกมาในทิศทางที่สนับสนุนให้นักลงทุน “ซื้อ”มากกว่า “ขาย”

ซึ่งก็เป็นทางเลือกที่ปลอดภัยที่สุดในการออกคำแนะนำ เพราะความที่สวนใหญ่ก็แนะนำไปทางเดียวกันคือ “ซื้อ” หากผิดพลาดมาราคาหุ้นตก นักวิเคราะห์ก็รู้ดีว่าการตำหนิจะถูกจำกัดด้วยข้อเท็จจริงที่ว่า นักวิเคราะห์ทุกรายก็ทำนายผิดเหมือนกันหมด

แต่ถ้านักวิเคราะห์รายนั้นเป็นเพียงแค่รายเดียวที่ให้คำแนะนำ “ขาย” ขณะที่รายอื่น ๆ แนะนำ”ซื้อ” และปรากฏว่าราคาหุ้นขึ้น แน่นอนว่าสถานการณ์เช่นนี้จะทำให้นักวิเคราะห์รายนั้นกลายเป็น “ผู้แพ้” ทันที เพราะไม่เพียงแค่แนะนำผิดเท่านั้น แต่ในอนาคตบริษัทโบรกเกอร์นายจ้างก็จะไม่ได้รับความเชื่อถือจากบริษัทที่มีศักยภาพมาเป็นลูกค้าอีกต่อไป สุดท้ายนักวิเคราะห์รายนั้นก็เสี่ยงที่จะตกงานได้

ขณะที่ WILLIAM J.O’NEIL เขียนไว้ในหนังสือ HOW TO MAKE MONEY IN STOCK ชี้ว่า จุดด้อยของนักวิเคราะห์หุ้นก็คือ

1.มีประสบการณ์น้อย -หลายคนในตอนเกิดฟองสบู่ด็อทคอมแตกในปี 2000 นั้นอยู่ในธุรกิจมาไม่ถึง 10 ปี พวกเขาจึงไม่เคยเจอตลาดหมีที่เลวร้ายในปี 1987 (เกิดวิกฤตการณ์ BLACK MONDAY) หรือย้อนไปในช่วงปี 1974-1975 หรือปี 1962 มาก่อน

2.การขาดความเข้าใจในเรื่องตลาดโดยรวม -เนื่องจากบริษัทโบรกเกอร์ได้แข่งขันกันให้ฝ่ายวิเคราะห์วิจัยหลักทรัพย์แบ่งงานกันทำ โดยแยกย่อยออกไปเป็นนักวิเคราะห์รายอุตสาหกรรม เช่น นักวิเคราะห์กลุ่มอุตสาหกรรมการเงินการธนาคาร, นักวิเคราะห์กลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานและน้ำมัน, นักวิเคราะห์กลุ่มอุตสาหกรรมค้าปลีกและค้าส่ง, นักวิเคราะห์กลุ่มอุตสาหกรรมการแพทย์และโรงพยาบาล ฯลฯ มันทำให้พวกเขากลายเป็นผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมนั้น ๆ ก็จริง แต่พวกเขาจะขาดความเข้าใจในเรื่องตลาดรวม และอะไรที่ทำให้หุ้นวิ่งขึ้นไปหรือตกลงมา

“บางทีนี่อาจจะอธิบายได้ว่าทำไมนักวิเคราะห์กลุ่มอุตสาหกรรมเทคโนโลยีทุกคนที่ปรากฏตัวในช่องทีวีเครือข่าย CNBC หลังจากเดือนกันยายนปี 2000 ถึงได้แนะนำให้ซื้อหุ้นกลุ่มไฮเทคตลอดทางขาลง จนหุ้นลงไปถึง 80-90% และอีกครั้งในปี ค.ศ.2008 ตอนเกิด HAMBURGER CRISIS นักวิเคราะห์ด้านปัจจัยพื้นฐานกลุ่มอุตสาหกรรมน้ำมัน และธนาคารก็แนะนำซื้อหุ้น 2 กลุ่มอุตสาหกรรมนี้ในช่วงขาลงของพวกมัน เพราะว่าพวกมันดูเหมือนจะราคาถูก จากนั้นพวกเขาก็ได้เจอราคาที่ถูกกว่านั้นอีกมาก”

ดูเหมือนผมจะเขียนอธิบายไปอ้อมโลก เพื่อจะบอกว่า ในตลาดหุ้นไทยเองก็เจอปัญหาทำนองเดียวกัน นั่นคงเป็นเพราะผมเกรงใจแวดวงวิเคราะห์หุ้นเนื่องจากผมก็เป็นนักวิเคราะห์หุ้น และ เป็นสมาชิกของสมาคมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ (ซึ่งตอนหลังได้เปลี่ยนชื่อมาเป็นสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุนแล้ว) อยู่ด้วยนั่นแหละครับสารภาพตามตรง ผมเกรงใจมาก ตามประสาคนไทยที่ไม่อยากไปทับเส้นใครเข้า

แต่ถ้าจะให้กล่าวถึงที่สุดแล้ว ในเมืองไทยเราก็อีหรอบเดียวกับที่เกิดขึ้นในอเมริกา (และว่าไปแล้วก็เป็นกันแบบนี้ทั้งโลกนั่นแหละครับ)โดยเฉพาะเรื่องทีคนเล่นหุ้น นักลงทุน ก็มีอคติมากพอ ๆ กัน

ตำราเศรษฐศาสตร์เชิงพฤติกรรม (BEHAVIORAL ECONOMICS) ชี้ว่า พฤติกรรมเชิงเศรษฐกิจของมนุษย์ที่เกิดขึ้นบ่อยที่สุด และต้องทั้งตระหนักและทั้งพึงระวังให้ดีข้อหนึ่งก็คือ “เราได้ยินสิ่งที่เราต้องการได้ยิน” โดยนักจิตวิทยาบอกว่า PERCEPTION หรือ การรับรู้และเข้าใจของมนุษย์นั้น SELECTIVE กล่าวคือจะเห็น เข้าใจ รับรู้ รู้สึกกับสิ่งต่าง ๆ เฉพาะที่ตนเองเลือก

ในด้านการลงทุนก็เลยมักจะเลือกรับรู้เฉพาะบทวิเคราะห์หรือข้อมูลที่เข้ากับอคติที่ตนเองเลือกแล้วอย่างขาดเหตุผล คือพอซื้อหุ้นไว้แล้ว หรืออยากจะซื้อหุ้นตัวนั้น ๆ ก็จะเลือกอ่านหรือความหาเฉพาะบทวิเคราะห์ที่แนะนำซื้อหุ้น ส่วนบทวิเคราะห์ที่เขาแนะนำให้ขายก็ไม่ยอมแตะเอาซะเลย

ดังนั้นคำแนะนำ ก็คือว่า ก่อนตัดสินใจลงทุน (ซื้อ,ถือ,ขาย) หุ้นนั้นควรตัดทิ้งอคติออกไป ทำใจให้เป็นกลาง พยายามอ่านข้อมูลบทวิเคราะห์และคำแนะนำที่รอบด้านที่สุด (เช่น การอ่านบทวิเคราะห์ CONSENSUS ของสมาคมนักวิเคราะห์ที่มีความคิดเห็นและข้อมูลที่หลากหลาย และรอบด้านมากกว่าจะพยายามอ่านหรือฟังเพื่อเลือกหาเหตุผลมาสนับสนุนการตัดสินใจที่ได้คิดไว้แล้วในใจ เพื่อความสบายใจของตนเอง...

พอผิดพลาดมาก็ไม่เคยคิดแก้ไขปรับปรุงทบทวน เพราะมีนักวิเคราะห์คอยเป็นกระโถนคอยรับเคราะห์แทนให้อยู่แล้ว เพื่อจะได้พึมพำโทษว่า “ไม่น่าเชื่อมันเลย”…

ไม่อยากตกเป็นเหยื่อ ก็อย่าหลงเชื่อนักวิเคราะห์ (ไปซะหมด) ครับ

และถ้าไม่อยากหมดตัว ก็อย่าปล่อยให้อคติบังตา!

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น