วันพฤหัสบดีที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

1ใน10เรื่องที่นักลงทุนมักทำผิดพลาด:อยากได้เงินมาอย่างง่าย ๆ และรวยเร็ว ๆ ด้วยการจับเสือมือเปล่า



ประสบการณ์ของผมที่เป็นประธานบริษัทหลักทรัพย์ที่ปรึกษาการลงทุน และจัดทำรายการโทรทัศน์เรื่องตลาดหุ้นมานานกว่า 20 ปี ทำให้ผมเจอคนมาทุกรูปแบบ และรูปแบบนี้ผมเจอมาเยอะที่สุด

พวกเขาแห่ทะลักมาในยามตลาดหุ้นขึ้น กระทิงเต็มที่ เสาะแสวงหา “หุ้นทีเด็ด”เพื่อเอาไป “แทง”แล้วหวังว่า จะรวยไว ๆ กำไรเฉียบพลันได้เงินมาง่าย ๆ ยิ่งหากไม่ต้องควักเงินควักทุนเลย แต่ใช้วิธีจับเสือมือเปล่า หรือกู้เขามาเล่นก็ยิ่งดีใหญ่

สุดท้ายก็ตายเรียบครับ ไม่เหลือรอดไปซักราย เพราะเริ่มต้นก็ผิดแล้ว ระหว่างกลางก็ผิด บั้นปลายก็คือผิด

เพราะเมื่อคุณคิดจับเสือมือเปล่า ด้วยการซื้อขายแบบหักกลบขายภายในวันเดียว (NET SETTLEMENT) คุณก็มีแรงกดดันให้ต้องหาหุ้น “ทีเด็ด”มาแทง หรือไปแทงพวกตลาด FUTURE (เช่น SET50 FUTURE) หรือออปชั่น หรือ วอร์แรนต์ และ คิริเวทีฟ วอร์แรนต์ ถ้าโชคดีคือมีกำไรเล็ก ๆ น้อย ๆ คุณก็ต้องขายออกไปง่าย ๆ เพราะโดนกดดันให้ต้องขายหักกลบภายในวันเดียว แต่หากโชคร้ายขาดทุนหนัก ๆ แล้วคุณก็ต้องถูกเวลากดดันให้ต้องขายทิ้งก่อนจบวัน และถ้าหากคุณดื้อคิดจะตื๊อถือต่อ คุณก็ต้องกู้เงินโบรกเกอร์มาเล่น หรือวางหลักประกันเพิ่ม

พฤติกรรมในตลาดหุ้นไทย ให้สังเกตให้ดีนะครับ ช่วงเวลาเช้า ๆ ตอนเปิดตลาดใหม่ ๆ ตอน 10-11 โมงเช้า ตลาดหุ้นมักขึ้นเขียวอื๋อ แต่พอตอนท้าย ๆ ตลาดหลัง 4 โมงเย็นไปแล้ว ตลาดหุ้นมักจะร่วงลง หรือตกแรง จนมีการพูดกันว่าเพราะเจอ “แก๊งค์ 4 โมงเย็น” ขาย...ความจริงไม่ใช่ยังงั้นหรอกครับแต่พฤติกรรมนี้เกิดจากลักษณะนิสัย การเทรดของพวกจับเสือมือเปล่า หรือพวกเทรดแบบ NET SETTLEMENT ซื้อตอนเช้า แล้วไม่เอาหุ้นกลับบ้าน พอ 4 โมงเย็นใกล้จะปิดตลาดเต็มแก่ถูกกดดันหนัก ราคาไหนก็ต้องขาย...ตลาดเลยสะท้อนพฤติกรรมออกมาในลักษณะ เปิดเช้าเขียว ใกล้ปิดตลาดลงแดงประจำ

แบบนี้รับรองได้เลยว่า มีแต่ตายกับตาย สำหรับคนที่เล่นจับเสือมือเปล่าเนื่องจากคุณจะโดนเสือตะปบมากกว่า และที่หวังจะได้เงินง่าย ๆ หรือเงินฟรีจากตลาดหุ้นนั้น มันไม่เคยมีอยู่จริงครับ

หลักเศรษฐศาสตร์นั้นมีกฎเบื้องต้นง่าย ๆ และควรจำหนึ่งคือ “ โลกนี้ไม่มีอะไรฟรี” หรือ “THERE IS NO FREE LUNCH” และอีกคำที่มีความหมายเดียวกันคือ “ไม่มีเงินฟรีวางบนโต๊ะรอให้คุณมาหยิบฟรี ๆ(NO CASH ON THE TABLE)

หลักการนี้จะเป็นเครื่องเตือนใจให้เพิ่มความระมัดระวังและไม่ประมาทกับโอกาสต่าง ๆ ที่พบ บางครั้งมันดูดีจนแทบไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นไปได้ อย่างการร่วงลงอย่างแรงของหุ้นสื่อสารเทคโนโลยีในตลาดหุ้น NASDAQ เมื่อปี ค.ศ.2000 ศาสตราจารย์ โรเบิร์ต เอช.แฟรงค์ เขียนไว้ในหนังสือ THE ECONOMIC NATURALIST

ส่วนศาสตราจารย์ รากุราม จี.ราจัน (RAGHURAM G. RAJAN) ศาสตราจารย์ด้านการเงินแห่งมหาวิทยาลัยชิคาโก และอดีตหัวหน้าทีมเศรษฐศาสตร์ของ IMF ซึ่งได้รับการยกย่องให้เป็นนักเศรษฐศาสตร์ผู้ทรงอิทธิพลทางความคิดสูงที่สุดในโลกหลังวิกฤตการเงิน HAMBURGER ในสหรัฐ จากการสำรวจของนิตยาสาร THE ECONOMIST ได้เขียนถึงเรื่องนี้ไว้ในหนังสือ FAULT LINES: HOW HIDDEN FRACTURES STILL THREATEN THE WORLD ECONOMY เป็นนิทัศน์อุทาหรณ์ว่า “โลกนี้ไม่มีอะไรฟรี”

โดยเขาได้เล่าถึงเรื่องที่เกิดขึ้นในศตวรรษที่ 18 เมื่อสถาบันกษัตริย์ของฝรั่งเศสร้อนเงิน จึงได้คิดวิธีขายพันธบัตรตลอดชีพออกมาขาย หลักวิธีก็คือเป็นพันธบัตรที่จ่ายดอกเบี้ยในอัตราคงที่จนกว่าผู้ที่ซื้อพันธบัตรจะเสียชีวิต โดยมุ่งเป้าหมายไปที่ลูกค้าที่มีกำลังซื้อสูง อันได้แก่ ลูกค้าเพศชายวัยประมาณ 50 ปีขึ้น(เพราะอายุขัยคนเราเวลานั้นเกิน 50 ปี ไม่นานก็ตายแล้ว)...แต่ก็ไม่มีกฎห้ามขายกลุ่มเป้าหมายอื่น ๆ

แต่มีนักลงทุนหัวใส โดยเฉพาะกลุ่มนายธนาคารในเจนีวา คิดว่านี่เป็นโอกาสที่จะ “ทำเงินทำกำไรมหาศาล กำไรชัวร์ ๆ เหมือนกับได้ฟรี” ใช้วิธีเลือกเด็กสาวสุขภาพดีจากตระกูลที่มีประวัติอายุยืนไปซื้อพันธบัตรจากรัฐบาลฝรั่งเศสมา และคำนวณว่า ตลอดชีวิตของเด็กสาวเหล่านี้จะมีรายได้ดอกเบี้ยพันธบัตรรวมกันสูงกว่าราคาต้นทุนพันธบัตรหลายเท่าตัว

จากนั้นนายธนาคารกลุ่มนี้ก็รวบรวมพันธบัตรดังกล่าวไปขายสิทธิในรายรับดอกเบี้ยต่อให้กับพลเมืองชาวเจนีวา นี่ก็ถือว่าเป็นรูปแบบแรก ๆ ของการแปลงสินทรัพย์ให้เป็นหลักทรัพย์ ในโลกการเงิน จึงเท่ากับว่านายแบงก์กลุ่มนี้ได้สร้างเครื่องผลิตเงินขึ้นมา ด้วยการซื้อพันธบัตรราคาต้นทุนถูก ๆ ได้ผลตอบแทนคงที่ในระยะยาว (ตลอดชีวิตของนอมินีเด็กสาว) แล้วขายมันใหม่ในรูปของหลักทรัพย์ในราคาที่สูงกว่าต้นทุนลิปให้กับนักลงทุนชาวเจนีวา และขายดีเป็นเทน้ำเทท่า

อย่างไรก็ตามนักลงทุนและนายแบงก์ไม่ได้คำนึงถึงปัจจัยเสี่ยงทางการเมือง (POLITICAL RISK) และอาจเป็นเหตุให้รัฐบาลกษัตริย์ของฝรั่งเศสอาจผิดนัดชำระหนี้ได้ แล้วก็มีเหตุจนได้ เมื่อเกิดการปฏิวัติฝรั่งเศส (FRENCH REVOLUTION) ในปี ค.ศ.1789 พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ถูกคณะปฏิวัติประหารชีวิตด้วยเครื่องกิโนติน สถาบันกษัตริย์ถูกโค่นล้ม และสถาปนารัฐบาลระบอบสาธารณรัฐขึ้นแทนที่ ไม่นานนักรัฐบาลของคณะปฏิวัติก็เริ่มจ่ายดอกเบี้ยช้ากว่าที่สัญญาไว้ สุดท้ายก็จ่ายในสกุลเงินไร้ค่า นายธนาคารเจนีวาซึ่งเป็นหนี้นักลงทุนในสกุลเงินสวิสที่แข็งกว่าก็ไม่มีปัญญาชำระคืน จึงผิดนัดชำระหนี้ ส่วนนักลงทุนที่เคยพากันแห่ซื้อ โดยจำนวนมากที่กู้เงินมาซื้อเพราะคิดว่าพันธบัตรรัฐบาลกษัตริย์ฝรั่งเศสเป็น “ของตาย” ก็จึงต้อง “เจ๊ง”ไปตามระเบียบ

ศาสตราจารย์ ราจัน บอกว่าเรื่องเก่าเล่าใหม่นี้ก็เกิดขึ้นเรื่อย ๆ รวมทั้งวิกฤต HAMBURGER CRISIS ของอเมริกาเที่ยวล่าสุดนี้ด้วย

สรุปก็คือว่า ไม่มีเงินฟรี ๆ ในตลาดหุ้นแน่ครับ ไม่มี “ของตาย” ที่มีแต่ทางได้โดยไร้ความเสี่ยง ดังนั้นหากคุณคิดว่าจะมาทำเงินในตลาดหุ้นแบบหวังจะหาเงินฟรีหรือหาเงินง่าย ๆ นั้นมันก็ผิดตั้งแต่ต้นแล้ว

เมื่อทำผิดแต่ต้นเสียแล้ว กระบวนการระหว่างทางก็เลยผิดอีก เพราะจะผลักดันให้คุณควานหา “หุ้นเด็ด”ประเภทข่าวลือข่าวลับข่าวลวง หรือตราสารที่เสี่ยงสูงมาก ๆ อย่างตลาด FUTURES (SET50 FUTURES,GOLD FUTURES)หรือวอร์แรนต์,คิริเวทิฟ วอร์แรนต์ หรือ ออปชั่นโดยใช้เงินกู้ (หรือมาร์จิ้น) จากโบรกเกอร์มา TRADE

ตอนปลายทางก็ผิดอีก เพราะกำไรนิดหน่อยคุณก็ต้องขายแล้วโดยเฉพาะหากคุณคิดเล่นหักกลบในวันเดียวแบบจับเสือมือเปล่า แต่ตอนผิดทางมาคุณต้องถูกเรียกหลักประกันเพิ่ม (CALL MARGIN) หรือขายตัดขาดทุนช้าเกินไปเมื่อผิดทาง

ท้ายสุดเมื่อคุณยืนขาตายทำอะไรไม่ถูก ก็ยังเจอ โบรกเกอร์บังคับขาย (FORCE SELL) อีกซ้ำ

ดังนั้นจะดีกว่าหากเปลี่ยนทัศนคติและลักษณะนิสัยที่ผิด ๆ ดังกล่าวนี้ให้เลิกคิดได้เลย ไม่มีเงินฟรี ๆ ในตลาดหุ้น, ไม่มีเงินง่าย ๆ ในตลาดหุ้น, ไม่มีของตายที่มีแต่ได้โดยไร้ความเสี่ยง ให้เลิกคิดได้เลยเรื่องจะมาจับเสือมือเปล่า เพราะผมยังไม่เคยได้ยินว่าใครประสบความสำเร็จร่ำรวยด้วยวิธีดังกล่าวซักราย (สารภาพก็ได้ว่า ผมเองในยุคที่มั่นใจในตัวเองเกิน 100 นั้น เคยบ้าบิ่นทดลองดู สรุปคือ แพ้ยับเยินครับ)

มีแต่ต้องแก้ไขทัศนคติ และแก้ไขพฤติกรรมนิสัยเสียใหม่ให้เห็นว่าตลาดหุ้นเป็นแหล่งการลงทุนที่มีทั้งความเสี่ยง และโอกาส ถ้าอยากประสบความสำเร็จก็ต้องดัดแปลงตนเองให้เป็นมืออาชีพ สร้างความรู้ หาประสบการณ์ เพิ่มพูนทักษะในการ TRADE หรือการลงทุน ทำได้ดังนี้โอกาสรวยก็มากขึ้น ความเสี่ยงที่จะเสียหายขาดทุนก็ลดลงครับ

STOCK TIPS : 5 นักลงทุนที่ล้มเหลว มีทัศนคติที่ผิดว่า ตลาดหุ้นเป็นแหล่งที่จะมาหาเงินได้ง่าย ๆ หรือได้เงินไปฟรี ๆ ด้วยวิธีจับเสือมือเปล่า แต่ผลลัพธ์นั้นล้มเหลว

นักลงทุนที่ประสบความสำเร็จ มีทัศนคติและลักษณะนิสัยตรงกันข้าม และมีความเป็นมืออาชีพ ที่จะประเมินและประพฤติปฏิบัติโดยเข้าใจหลักการเรื่อง “โอกาสและความเสี่ยง” โดยจำกัดความเสี่ยงให้น้อยลง และเพิ่มโอกาสให้สูงขึ้น

หมายเหตุ:คัดมาจากตอนหนึ่งของหนังสือ"จิตวิทยาตลาดหุ้น:ฉีกกฎลงทุนโลกตะลึง" ซึ่งผมกำลังจัดทำต้นฉบับรอตีพิมพ์อยู่ครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น